ผลของการสั่งใช้ยาของแพทย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ต่อความคลาดเคลื่อนทางยา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ได้มีการพัฒนาระบบบริหารการจัดการด้านยา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้มากขึ้น โดยได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสั่งยาของแพทย์แทนการสั่งยาด้วยการเขียนใบสั่งยา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาก่อนและหลังจากการสั่งใช้ยาของแพทย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแบ่งกลุ่มของความคลาดเคลื่อนทางยาเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยา ความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกคำสั่งใช้ยา ความคลาดเคลื่อนในการจัดเตรียมยา (ความคลาดเคลื่อนก่อนจ่ายยา) และความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยา โดยเก็บข้อมูลจากใบสั่งยาของผู้ป่วยนอกระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2560 (ช่วงก่อนการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสั่งยาของแพทย์) และ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2561 (ช่วงหลังการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสั่งยาของแพทย์) และวิเคราะห์อัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาจำแนกตามประเภทของความคลาดเคลื่อน โดยใช้ค่าสถิติร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูล โดยใช้สถิติ Chi-square ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (α= 0.05) ผลการวิจัย พบว่า หลังจากมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการสั่งยาแทนการเขียนใบสั่งยาของแพทย์ พบอัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาของผู้ป่วยนอกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) จากร้อยละ 5.57 เป็นร้อยละ 0.53 ซึ่งอัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาในแต่ละประเภทของความคลาดเคลื่อนมีแนวโน้มลดลง ทั้งในส่วนของความคลาดเคลื่อนในการสั่งใช้ยาของแพทย์ ความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกคำสั่งใช้ยาของพยาบาล และความคลาดเคลื่อนในการจัดเตรียมยาของเจ้าหน้าที่ห้องยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001,p<0.001,p=0.046 ตามลำดับ) ในขณะที่ความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาของเภสัชกรลดลงเช่นกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.317) โดยเฉพาะความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกคำสั่งใช้ยาไม่พบอุบัติการณ์การเกิดความคลาดเคลื่อนเลย สรุปได้ว่า การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการสั่งยาของแพทย์ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาได้ และเป็นการเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยาแก่ผู้ป่วยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประยุกต์ใช้กระบวนการ Lean มาช่วยในการพัฒนาคุณภาพด้านการบริการอีกทางหนึ่ง เนื่องจากได้มีการลดขั้นตอนในการคัดลอกคำสั่งใช้ยาของพยาบาล ทำให้ระยะเวลาในการให้บริการด้านการรักษาและกระบวนการจ่ายยาสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: จัดการความรู้

คำค้น: "การสั่งใช้ยา" "ความคลาดเคลื่อนทางยา"

เข้าชม: 913 ครั้ง

ผู้จัดทำ: นางสาวประภัสสร จินานุรักษ์

ผู้เผยแพร่: นางสาวประภัสสร จินานุรักษ์

QR Code

เกี่ยวกับเรา

ติดต่อเรา

ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี
เลขที่ 1 หมู่ 11 ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ
จังหวัดสระบุรี 18130

โทร. 036-200334 - 6